คำเตือน บทความนี้อาจมีการสปอยยยยยล์เนื้อเรื่อง
Delirium: เมื่อความรักเปรียบเสมือนโรคร้าย ช่วงนี้ชีวิตกลับมาสู่วัฏจักรการอ่านอีกครั้ง หนังสือเรื่องล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบไปคือเรื่อง Delirium เขียนโดย Lauren Oliver อ่านจบแล้วรู้สึกว่า เราควรจะทำตัวให้ productive นะ อย่างน้อยก็สะท้อนความคิดตัวเองออกมาบนพื้นที่เล็กๆนี้สักหน่อย ไม่ได้เสียหายอะไรนี่นา (ไหนๆสมองก็ว่างอยู่แล้วช่วงนี้) ด้วยเหตุนี้ จึงตัดสินใจเอาฟะ มาบ่นในบล็อกสักหน่อย
เท่าที่ผ่านมาอดสังเกตไม่ได้ว่าตัวเองอ่านหนังสือประเภท dystopian society มาเยอะมากพอสมควร อาจจะเป็นเพราะมันกำลังเป็นเทรนด์ของหนังสือช่วงนี้ล่ะมั้ง หลังจากที่เป็นแฟนตาซีตามแฮร์รี่ พอตเตอร์มานาน
Delirium เป็นอีกเรื่องที่มีฉากเป็น utopian society คือ ทุกอย่างสงบ ไม่มีความเจ็บปวด ทุกอย่างดำเนินไปตามที่มันควรจะเป็น ตามคำสั่งของรัฐบาล แต่สุดท้ายงานเขียนสไตล์นี้จะดึงให้เราฉุกคิดว่า ชีวิตแบบนั้นมัน utopian จริงๆเรอะ dystopian theme book จะพยายามชี้ให้เห็นว่า อืมม ชีวิตแบบนั้นน่ะ มันไม่โอเคนะ ชีวิตมันควรจะมีอะไรมากกว่านั้นสิ! ใน Delirium ก็พยายามจะนำเสนอแนวคิดเหมือนกัน
ขณะที่ The Hunger Games และ Divergent ที่เราอ่านมาก่อนหน้านี้ นางเอกทั้งสองเรื่อง พวกชีจะแอคชั่นกันหนักปางตายมาก Delirium กลับดึงเรื่อง "ความรัก" ขึ้นมาเล่นเป็นหลัก ตัวเอกในเรื่องนี้เลยดูปวกเปียก ซอฟต์ๆ แอบงี่เง่าพิกล เราปลื้มชีน้อยที่สุดในบรรดานางเอก dystopian books 3 เล่มที่อ่านมาในช่วงปีสองปีนี้เลย
นักเขียนเซ็ทให้สังคมของตัวเอก "Lena" มองว่าความรักนั้นเป็นโรคอย่างหนึ่ง เพราะความรักก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่างๆมากมาย ทำให้เกิดอาการเพ้อคุ้มคลั่ง ฯลฯ รัฐบาลถึงขั้นล้างประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว ออกหนังสือข้อกำหนด บลา บลา ไล่จับพวกที่ฝ่าฝืนริมีความรัก ทุกคนเมื่ออายุถึงกำหนด จะต้องได้รับการรักษา ต้องแต่งงานกับคนที่รัฐบาลจับคู่ให้ ดำรงชีวิตแบบไม่รู้จักความรัก คือ ถ้าคนเคยอกหักอาจจะแวบคิดว่า เออ สังคมแบบนี้อาจจะดีก็ได้ เรายังคิดเลย 555 แต่สิ่งที่เราจะไม่ได้ทำในสังคมนี้ก็คือ "เลือก" เลือกที่จะเป็นอะไรสักอย่าง ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการสร้างสังคมยูโทเปียในอีกสองเรื่องที่เราอ่านมานะ สิ่งที่ทุกคนจะไม่มีเลยก็คืออิสรภาพในการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง
แน่นอนว่าเพื่อให้เข้ากับชื่อเรื่อง Delirium ที่แปลว่า อาการเพ้อ อาการคุ้มคลั่ง นางเอกก็ต้องหลงรักหัวปักหัวปำสินะ Lena ได้พบเจอกับหนุ่มผมสีเหมือนใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง (ไหงสำหรับเราผู้ชายแบบนี้มันดูเหมือนผมสีไฟลุกมากกว่า ไม่เห็นจะดูหล่อตรงไหน) ช่วงก่อนที่เธอจะได้เข้ารับการรักษา เท่านั้นล่ะจ้า เตลิดเปิดเปิง แล้วก็คิดหนีตามกัน (พล็อตเรื่องคุ้นๆ...) คือ จากที่เป็นคนขี้กลัว ไม่เคยแหกกฎ Lena ก็แหกกฎทุกอย่าง แต่แล้วก็ถูกจับได้ จะถูกเอาไปรักษาก่อนกำหนด พระเอกมาช่วย หนีตามกันไปอีีก จะออกนอกเขตชายแดน แต่สุดท้ายก็ไม่รอด พระเอกถูกยิง ส่วน Lena หนีเข้าป่าไปได้ เรื่องจบอยู่แค่นี้ ตอนต่อไปต้องอ่านเล่มสอง (มีทั้งหมดสามเล่ม)
เมืองที่เป็นฉากหลักของเรื่องคือเมือง Portland แต่เราไม่รู้ว่าคือเมือง Portland ที่อยู่ในรัฐ Oregon ของอเมริกาหรือเปล่านะ ฉากในเรื่องนี้จะดูสมจริงกว่าเรื่องอื่นๆนิดนึง คือ ยังเป็นเมืองปกติธรรมดา ไม่ได้มีเทคโนโลยีเว่อร์อลังการ ยังเรียกประเทศตัวเองว่าอเมริกา สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการปกครอง ความเชื่อของคนในเมืองที่คิดว่าความรักเป็นโรคร้ายจริงๆ นอกจากนี้ยังมีเขตนอกเมืองออกไปที่เป็นที่อยู่ของพวก Wilds หรือพวก Invalids ทั้งหลาย ซึ่งคนพวกนั้นหนีออกไปเพราะไม่เชือในการปกครองแบบนี้ พวก Wilds หรือ Invalids จะกลับมาที่ Portland ไม่ได้อีก ต้องหลบๆซ่อนๆ ถือว่าไม่มีตัวตนไปเลย
ในส่วนของการสร้างตัวละคร ส่วนตัวเราเฉยๆนะ คิดว่าตัวละครไม่ได้มีบุคลิกที่แปลกหรือแตกต่างอะไร แต่เราไม่ค่อยชอบตัวเอก เพราะดูงี่เง่าและน่ารำคาญมาก แม้ว่านักเขียนจะให้แบคกราวด์ตัวละครมาแล้วว่า ชีวิตครอบครัวของเธอทุกคนต้องประสบกับการเป็น "โรค" ติดเชื้อความรักด้วยกันทั้งนั้น ทั้งแม่ ทั้งพี่สาว คนภายนอกค่อนข้างจะคิดว่าเธอมีเชื้อโรคนั้นอยู่ในตัวด้วย เธอเลยโตมาในบ้านของป้าหรือน้านี่แหละ ถูกคนมองไม่ค่อยจะดี เป็นคนธรรมดาๆไม่ได้เด่นอะไร ชีก็คงจะมีความเก็บกดส่วนตัวอยู่ ฟังดูน่าสงสาร ทำให้ชีวิตดูขัดแย้งในตัวเองพิกลๆ ส่วนพระเอก Alex ก็ดูเป็นพระเอกตามสไตล์ ชอบนางเอก สอนความรักให้นางเอก เสียสละเพื่อนางเอก ฯลฯ ทำนองนั้น ส่วน Hana เพื่อนนางเอก เป็นสไตล์ที่เราชอบนะ แต่มีคนไปอ่านหนังสือที่เค้าเขียนผ่านมุมมองของ Hana รีวิวกันมาว่า ชีแอบร้าย ขี้อิจฉา และสุดท้ายก็คงทรยศ Lena แต่เรากลับรู้สึกว่าดูเป็นตัวละครที่ดูมีชีวิตชีวาดี ไม่มืดๆทึมๆแบบนางเอกน่ะ
ถึงแม้จะเป็นสังคมที่มีกรอบล้อมทุกด้าน แต่วัยรุ่นที่นี่ก็มีอิสระพอตัวเมื่อเทียบกับวัยรุ่นเรื่องอื่นๆที่รัฐบาลคุมเข้มมากกว่านี้ ช่วงก่อนได้รับการรักษากันสองสามเดือนเนี่ย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทีเดียว หลายคนก็มาเสียผู้เสียคน ติดโรคกันเอาตอนนี้นี่ล่ะ เช่นตัวนางเอกเป็นต้น พี่นางเอกเองก็เคยเป็นมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกลากตัวพาไปแล็บเพื่อรักษาโดยด่วน
ในส่วนสไตล์ผู้เขียน บางตอนเค้าก็เขียนดี บรรยายสวย ติดบรรยายละเอียดในบางตอนมากไปนิด เราเลยรู้สึกว่าน่าเบื่อมาก แต่ก็บรรยายได้ค่อนข้างเห็นภาพดีทีเดียว ถ้าเป็นคนไม่ชอบเรื่องสไตล์เวิ่นเว้อ เล่มนี้อาจจะไม่ถูกใจนัก ก็ปมเรื่องเราว่ามันแค่นิดเดียวเองนะ จิ๊ดเดียวเอง เป็นปมเรื่องสไตล์รักกันไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่เอามารีเมคกันเยอะแยะแล้ว มีการอ้างถึงรักสไตล์นั้นในเรื่องด้วย อย่างเรื่องของโรมิโอกับจูเลียต เรื่องในแต่ละตอนที่ดำเนินไป บางทีเราว่ามันยืดยาววววไปหน่อย แต่เรื่องนางเอกกับพระเอกจริงๆดูมีน้อยมาก แบบเวลาสวีทกันเนี่ย เราว่ามันยังไม่กินใจมากพอ ตอนสุดท้าย พอพระเอกโดนยิง นางเอกหนีไป เราเหมือนยังไม่อินอ่ะ รู้สึกเฉยๆ ทั้งๆที่เรื่องแบบนี้ปกติ เราจะน้ำตาซึมตามแล้วนะ ในเรื่องเรากลับน้ำตาซึมเพราะเรื่องมิตรภาพมากกว่า
สรุปแล้วเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่ใช้ได้เล่มหนึ่ง ถ้าใครชอบสไตล์ความรักโรมิโอ-จูเลียต ที่ต้องหลบๆซ่อนๆ พยายามจะหนีตามกันไป ก็อาจจะชอบเล่มนี้นะ แม้ว่ามันจะไม่ได้จบแบบ tragic ขนาดนั้น (คือ มันจบแบบให้ติดตามต่อมากกว่า อิพระเอกโดนยิงก็จริง แต่คือก็ไม่ได้เห็นชัดๆว่าตายน่ะ นึกออกมะ อาจจะไปอยู่ในคุกก็ได้) และถ้าใครชอบพวก The Hunger Games หรืออ่าน Divergent มา แล้วติดใจ "ความขบถ" ของตัวละครเอกที่มีต่อสังคม ต่อรัฐบาล ก็น่าจะอ่านเล่มนี้ได้เพลินๆ แต่อย่าคาดหวังว่านางเอกจะลงไปบู๊มากขนาด Katniss หรือ Tris นะ เพราะจะผิดหวังได้
คือ เรื่องในเล่มนี้ มองอีกมุม นางเอกก็เหมือนเด็กใจแตกเหมือนกันนะ คือโอเค พวกเราโตมาในสังคมที่ความรักเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องสวยงามไง พอเราอ่านหนังสือเล่มนี้ มีสังคมที่มองว่าความรักเป็นโรคแบบนี้ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ได้ไงอ่ะ สังคมแบบนี้ อยู่ไม่ได้หรอกนะ ฯลฯ แล้วก็เชียร์นางเอกไง แบบ เย้ เธอได้รู้จักความรัก แต่มองในมุมใหม่ ถ้าเราเป็นคนสังคมนั้นอ่ะ คือความรักมันก็อาจจะเป็น disease จริงๆก็ได้นะ ขนาดเราถูกปลูกฝังว่ารักดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราควรมีความรักให้แก่กัน บลาๆ ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นผลร้ายของความรักได้อยู่เลยอ่ะ คือ ถ้าเจอคนแบบนางเอก คิดหนีตามผู้ชายอ่ะ ทั้งๆที่อายุสิบหกสิบเจ็ด นี่คือเราก็มองว่าใจแตกป่ะ 5555 แต่ก็เข้าใจนะ มันไม่ใช่แค่หนีตามกันไปไง แต่มันคืออาการรับไม่ได้ เมื่อได้รู้ความจริงทั้งหมด มันเหมือนคนตาบอดมาแต่กำเนิดแล้วจู่ๆก็มองเห็นอ่ะ ถึงจะถูกทำให้ตาบอดอีกรอบ เราก็ยังไม่มีทางลืมสิ่งที่เราเห็นไปได้ง่ายๆ หรือเหมือนบางเรื่องที่เราไม่รู้ พอเราได้รู้แล้ว มันก็ไม่มีทางที่เราจะกลับไป "ไม่รู้" ได้อีกน่ะ
ในหนังสือบอกอาการคนมีความรักได้อย่างเป็น fact มาก ถ้าเราอ่านเชิงวิทยาศาสตร์ ก็จะรู้สึกว่าเออว่ะ มันก็เหมือนโรคๆนึงได้จริงๆ
คือ เราว่าสังคมยูโทเปียของนางเอกนี่ก็สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลนะ
แต่เราเห็นต่างจากรัฐบาลตรงที่ว่ามันไม่ใช่รักอ่ะที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด
"ความไม่รัก" ต่างหาก ที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น
แต่รัฐบาลก็ทำแสบดีนะ เอา "ความเฉยๆ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับรักจริงๆมาเป็นหลักยึดในสังคมแทน
แบบ เออ ดี คิดได้
คนในสังคมเลยเมินเฉยกับทุกเรื่องในชีวิต
และหลังจากที่เถียงกับตัวเองมานาน ก็ตัดสินใจสั่งหนังสือเล่มสองไปแล้ว
ไว้ว่างๆอ่านจบจะมาคุยให้ฟังใหม่ ว่าความคิดที่มีต่อเรื่องทั้งหมดเราเปลี่ยนไปบ้างไหม ;)
No hay comentarios:
Publicar un comentario